พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม

ปฐมวัย

สมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 ประสูติ ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1835 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองของพระเจ้าเลออปอลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งเบลเยียม กับพระอัครมเหสี สมเด็จพระราชินีหลุยส์-มารี พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาพระองค์ใหญ่ของพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในปีค.ศ. 1834 จึงทำให้พระองค์กลายเป็นองค์รัชทายาท พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งบราบันต์" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานให้แก่มกุฎราชกุมารเท่านั้น

เจริญพระชันษา

พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านการเมืองของประเทศ โดยเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ. 1855 เมื่อทรงเป็นสมาชิกวุฒิสภา และในปีเดียวกันนั้นทรงผลักดันให้รัฐบาลเริ่มหาอาณานิคมเป็นของตน ในปีค.ศ. 1853 ทรงอภิเษกกับมารี เฮนรีทเทอเแห่งออสเตรีย พระธิดาของอาร์ชดยุกโจเซฟแห่งออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1853 มีพระราชโอรสและธิดารวมทั้งสิ้นสี่พระองค์ เป็นพระราชธิดาทั้งหมดสามพระองค์ และพระราชโอรสพระองค์เดียว คือ เจ้าชายเลโอโปลด์ ดยุกแห่งบราบันต์ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาเพียง 9 ปี

ขึ้นครองราชย์

ในปีค.ศ. 1865 ทรงเสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายด้าน รัฐบาลพรรคเสรีนิยมนั้นได้ปกครองเบลเยียมตั้งแต่ปีค.ศ. 1857 ถึงค.ศ. 1880 โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัย ได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปีค.ศ. 1879 ซึ่งประกาศให้มีการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในชั้นประถมศึกษา โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งการยกเลิกการสนับสนุนจากรัฐต่อโรงเรียนประถมโรมันคาทอลิกทั้งหมด ต่อมาในปีค.ศ. 1880 พรรคคาทอลิกได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาและต่อมาได้แก้กฎหมายเพื่อคืนการสนับสนุนจากรัฐให้แก่โรงเรียนคาทอลิกอีกครั้งหนึ่ง ในปีค.ศ. 1855 กลุ่มการเมืองฝ่ายสังคมนิยม และสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้เป็นตัวแปรทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้งตั้งแต่มีการจัดตั้งพรรคแรงงานขึ้น ซึ่งต่อมาได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับบุรุษขึ้นในปีค.ศ. 1893 พระองค์ทรงสนับสนุนการพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันประเทศอันถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะทรงผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมายการเกณฑ์ทหารได้จนกระทั่งในคืนสวรรคต

อาณานิคม

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: รัฐอิสระคองโก

พระองค์มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าดินแดนอาณานิคมในต่างทวีปนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศได้ และพระองค์ก็ทรงบากบั่นที่จะหาดินแดนอาณานิคมสำหรับเบลเยียม ในที่สุดพระองค์ก็ได้มาซึ่งอาณานิคมในฐานะพระราชสมบัติส่วนพระองค์ โดยที่รัฐบาลนั้นเป็นผู้ให้ยืมเงินสำหรับการนี้โดยเฉพาะ

ในปีค.ศ. 1866 พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้เอกอัครข้าราชทูตประจำกรุงมาดริดในขณะนั้น เป็นผู้แทนฯร้องขอดินแดนหมู่เกาะฟิลิปปินส์จากสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปน แต่อย่างไรก็ตามเอกอัครข้าราชทูตนั้นก็มิได้ทำตามที่ทรงรับสั่งเนื่องจากเห็นควรว่าเป็นการไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น และต่อมาพระองค์ได้มีรับสั่งให้ย้ายเอกอัครข้าราชทูตนี้โดยให้แทนที่ด้วยคนที่พร้อมที่จะเชื่อฟังพระองค์และสามารถจะทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จลงได้[1]

ต่อมาในปีค.ศ. 1868 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถอีซาเบลที่ 2 แห่งสเปนถูกถอดลงจากราชสมบัติ พระองค์จึงได้พยายามฉวยโอกาสนี้ในการครอบครองดินแดนฟิลิปปินส์ แต่ก็ไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน พระองค์จึงทรงเปลี่ยนแผนการโดยทรงพยายามผลักดันให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นรัฐอิสระ และจะได้ถูกยึดครองได้ง่ายโดยเบลเยียม แต่ทว่าแผนการนี้ก็ไม่สำเร็จ พระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระทัยไปยังการครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกาแทน[1]

ภายใต้ความพยายามของพระองค์ ในที่สุดเมื่อปีค.ศ. 1876 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส่วนพระองค์ โดยให้เป็นเสมือนองค์กรระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยธรรม ซึ่งได้ตั้งชื่อว่า "สมาคมแอฟริกันนานาชาติ" (Association Internationale Africaine) และในปีค.ศ. 1878 กิจการในนามของบริษัทได้จ้างนักสำรวจผู้โด่งดัง เฮนรี สแตนลีย์ (Henry Morton Stanley) เพื่อที่จะสำรวจและสร้างอาณานิคมภายในดินแดนของคองโก.[2]ซึ่งด้วยความสามารถในการทูติของพระองค์ ทำให้ผลของการประชุมเบอร์ลินในปีค.ศ. 1884-1885 ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของแอฟริกานั้น ทำให้ทั้งสิบสี่ประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับพระองค์ ในฐานะองค์ประมุขในดินแดนซึ่งพระองค์และเฮนรี สแตนลีย์ได้กล่าวอ้าง ในที่สุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 "รัฐอิสระคองโก" ก็ได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การปกครองส่วนพระองค์ ซึ่งดินแดนแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าเบลเยียมกว่า 76 เท่า ซึ่งพระองค์ได้ทรงควบคุมผ่านกองทัพส่วนพระองค์ ในนามว่า "Force Publique"

ปลดปล่อยคองโก

หลังจากมีเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์จากพรรคสังคมนิยมคาทอลิกและพรรคแรงงาน จึงเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลได้บังคับพระองค์ให้ปลดปล่อยการถือกรรมสิทธิ์ในคองโกโดยโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินในปีค.ศ. 1908 ทำให้รัฐอิสระคองโกได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมในนามว่าเบลเจียนคองโกภายใต้การปกครองของรัฐบาล และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อให้อิสรภาพจนกลายเป็น สาธารณรัฐคองโก , สาธารณรัฐซาอีร์ และในปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ "DRC"

ลอบปลงพระชนม์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1902 ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตยชาวอิตาเลียน เกนนาโร รูบิโน ได้พยายามลอบปลงพระชนม์พระองค์ในขณะที่ทรงม้าในพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีมารี เฮนรีทเทอพระมเหสีซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตไม่นาน รูบิโนได้ยิงปืนสามนัดโดยเล็งไปที่พระองค์ขณะที่ขบวนกำลังเคลื่อนที่ผ่านหน้าเขาไป แต่กระสุนทั้งสามนัดนั้นพลาดจึงทำให้เขาถูกจับกุมในทันที